ประวัติความความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
1 ธันวาคม 2562

0


          ชุมชนตำบลวัง เป็นชุมชนสืบตระกูลเดิมมาเป็นส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน มาตั้งแต่สมัย 200 ปี ที่ผ่านมา มีการไปมาหาสู่กันมาตลอดมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน นับถือศาสนาพุทธ 95 % มีวัด 4 แห่ง เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวพุทธทั้งหลายเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้าน คู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ละแห่งมีอายุมากกว่า 200 ปี บางวัดเคยร้างไป แต่บัดนี้ได้ยกฐานะเป็นวัดใหม่อีกครั้ง แต่ยังมีร่องรอยเคยเจริญมาแล้วนับร้อยปี เช่น วัดถ้ำศิลาเตียบในหมู่ที่ 5 ติดกับภูเขาประสงค์ทางทิศใต้ และติดคลองประสงค์ นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของตำบลวัง ถ้าได้พัฒนาการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น

          คุณตาวิเชียร หวัดสนิท เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนที่บ้านวังเคยเป็นชุมชนบ้านแขกมาก่อน ตามหลักฐานที่ยังคงมีเหลืออยู่ คือ  สถานที่ฝังศพคนอิสลาม ชาวบ้านเรียกว่า “เปรวแขก” (เปรว  แปลว่า ที่ฝังหรือเผาศพ)  คำว่า “วัง” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “หวัง” คือ คนแขก  น่าจะเคยพูดมาว่า “บ้านหวัง” ต่อมาเพี้ยนมาเป็น  “บ้านวัง” คุณตาวิเชียร เล่าว่า  ปู่ของท่าน  ชื่อ นายหวัด  ย่าของท่าน ชื่อ นางเภาแก้ว ตระกูล“หวัดสนิท” เป็นตระกูลเก่าแก่ที่สุดของชุมชนตำบลวังและยังมีอีกตระกูลหนึ่งที่เก่าพอ ๆ กัน คือ ตระกูล “ธรรมเดชะ”  กับตระกูล “ธรรมวาระ” ท่านเล่าว่า  ท่านจำได้ว่าต้นตระกูล “ธรรมเดชะ” ชื่อนายเตียง ต้นตระกูล “ธรรมวาระ” ชื่อนายโต๊ะ ซึ่งเป็นญาติกันเป็นลูกผู้พี่ผู้น้องกัน

          หัวหน้าและในตำบลวังมีคนที่เรียกกันว่า “ตาหัวเมืองท่าชนะ” ซึ่งอยู่ที่บ้านกลม  ท่านไม่ทราบว่ามีตำแหน่งอะไรแต่พวกกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านจะต้องขึ้นกับตาหัวเมืองทั้งหมด เมื่อเกิดคดีความขึ้นมา กำนันหรือผู้ใหญ่ตัดสินไม่ได้ก็จะพาไปหาตาหัวเมืองหมอบคลานเข้าไป คนรับใช้หรือทาสประจำตัวตาหัวเมืองที่ข้อศอกจะมีรอยดำด่างทุกคนเพราะ เนื่องจากหมอบคลานเข้าหาทุกครั้งที่เข้ารายงานทุกเรื่อง กำนัน เท่าที่ท่านจำได้  คือกำนันเซ่ง ไม่ทราบนามสกุล ผู้ใหญ่บ้านชื่อ ขุนมหาดไทย  (ชุม หวัดสนิท) คือ พ่อของท่านเอง ตอนนั้นตำบลวังมี 2 หมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ตั้งที่บ้านวัง  หมู่ที่ 2  ตั้งที่บ้านดอนตาทวด จำนวนครัวเรือน ท่านจำไม่ได้ว่ามีจำนวนเท่าใด  ขุนมหาดไทยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2  บ้านดอนตาทวด มีชุมชนอีกชุมชนหนึ่ง มี 7 – 8 ครัวเรือน  เรียกว่า “บ้านตีน” มีหมื่นการการุณเป็นหัวหน้าชุมชน เป็นหมอดังมากทางสมุนไพร หรือเรียกว่า “หมอฤทธิ์”

          สมัยนั้นชาวบ้านมีอาชีพทำนา ทำตาลโตนด ทำชัน (เจาะต้นยางนา เอาน้ำชัน) การทำตาลโตนดต้องเสียค่าเช่าให้หลวง ทำชันก็เหมือนกัน ต้องขออนุญาต น้ำชันที่ทำได้ก็ขายให้คนที่มีอาชีพห่อไต้ขาย นอกจากอาชีพอื่นๆ แล้ว อาชีพเลี้ยงควายอีกอาชีพหนึ่งที่เหมาะแก่การทำมาหากินสมัยนั้น เพราะตำบลวัง มีพื้นที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ประเภทควาย แต่สมัยก่อนคนไม่รู้จักวัวเลย ตาวิเชียรเล่าว่ามีแต่ควายทั้งนั้น เกือบทุกบ้าน บ้านละ 10 ตัว ถึง 20 ตัว เลี้ยงกันเป็นฝูง ๆ และเลี้ยงสืบต่อกันมาจนถึงประมาณ พ.ศ. 2515 ก็หมด เริ่มเลี้ยงวัวแทน เพราะพื้นที่เลี้ยงเริ่มลดน้อยลง เพราะชาวบ้านเริ่มทำการเกษตรมากขึ้น 

          ชุมชนที่น่ากล่าวถึงในอดีต มีพอสังเขป ดังนี้

          ชุมชนบ้านท่าม่วง อยู่ในเขตหมู่ที่ 7 ติดกับหมู่ที่ 5 ปัจจุบัน หรือบ้านท่าเกาะเป็นท่าเรือสมัยก่อนมีอู่ต่อเรือใหญ่ มีการขุดพบลูกปัดทำจากหินสีต่างๆ จำนวนมาก (ปัจจุบันยังมีการขุดพบอยู่บ้างเป็นประปราย) เคยเป็นท่าเรือสำเภาจอดขายส่งสินค้าจากเมืองจีนแต่ไม่มีผู้ใดยืนยันแน่ชัด

          ชุมชนบ้านปากกิ่ว เป็นชุมชนเก่าแต่ในอดีต เมื่อประมาณ 70 – 80 ปี มาแล้ว เคยมีเถ้าแก่จากเมืองจีนมาลงทุนทำโป๊ะค้าขายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้ตำบลวังได้ทำมาค้าขายกับชุมชนบ้านปากกิ่วเช่นข้าวสาร พืชผักต่าง ๆ  และซื้อปลาทะเลหรือน้ำปลาจากบ้านปากกิ่วไปเนื่องจากบ้านปากกิ่วเป็นแหล่งทำน้ำปลาที่มีชื่อเสียงในอดีต เดี๋ยวนี้ยังเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำน้ำปลาอร่อยเหลืออยู่ ที่น่าจะส่งเสริมขึ้นมาใหม่

          บุคคลที่เกี่ยวข้องกับชุมชนบ้านปากกิ่วที่มีบทบาทสำคัญที่จำได้ คือกำนันหมื่นขจร บุญพูน (กำนันเข้ง)  โกเกี้ยม โกย้ง  ครูอินทร์  นายลิ้มเฮ้ง  นายเหย่า (ผู้ใหญ่ธวัช วังชนะกุล)

          ตระกูลอีกตระกูลหนึ่งที่เก่าแก่ มี 6 คน พี่น้อง ได้แก่ นางพิม นางเพิ่ม นายเริ่ม นายรบ นายฤทธิ์ และนายเรียบ อดีตเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนสัก (วัดสุมังคลาราม) ตำบลท่าชนะ ต่อมามีลูกหลานอยู่กระจัดกระจายในตำบลวัง และตำบลท่าชนะบางส่วนในเขตติดต่อ ซึ่งต่อมาได้แบ่งการปกครองตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และขยายพื้นที่ที่อยู่อาศัย บุกเบิกที่ทำกินออกไป และแบ่งเป็น 6 หมู่บ้าน ได้แก่

                   หมู่ที่ 1  บ้านห้วยน้ำเค็ม

                   หมู่ที่ 2  บ้านบางพระ

                   หมู่ที่ 3  บ้านปากกิ่ว

                   หมู่ที่ 4  บ้านยางปิดทอง

                   หมู่ที่ 5  บ้านบ่อใส

                   หมู่ที่ 6  บ้านดอนตาทวด

          กำนันสมัยที่ท่านจำได้ (คุณตาวิเชียร หวัดสนิท) คือ ขุนระวังเวียงชัย (กำนันทิน ช่วยฤกษ์) และปัจจุบันนี้ตำบลวัง ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน และแบ่งการปกครองใหม่ แบ่งเป็น 8 หมู่บ้าน และมีกำนันปกครองตำบลวัง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน  ดังนี้

                   1.  กำนันเซ่ง (ไม่ทราบนามสกุล) ประมาณ  200 ปีก่อน

                   2.  นายเหล่ง

                   3.  นายคล้าย  วังโยธา

                   4.  ขุนระวังเวียงชัย  (กำนันทิน   ช่วยฤกษ์)

                   5.  หมื่นขจร  บุญพูน  (กำนันเข้ง)

                   6.  นายเสงี่ยม  วังโยธา

                   7.  นายเอื้อน  ชัยฤกษ์ (พ.ศ.2516 – 2533) เลือกตั้งโดยประชาชนครั้งแรก 

                   8.  นายประจวบ  ทุ่มทวน (พ.ศ.2525 – 2533)

                   9.  นายวิญญา  แก้วหมุด (พ.ศ.2533 – 2548)

                   10. นายปรารภ  พรหมหิตาทร (พ.ศ.2548 - 2560)   

                   11. นายเรืองศักดิ์  ซุยจินา (พ.ศ.2560 - ปัจจุบัน)